รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.พระนคร เตรียมเร่งรัดพัฒนาด้านกายภาพและภูมิทัศน์ ด้วยการวางแผนระยะสั้น กลาง ยาว ระดมสมองและความร่วมมือดึง “รศ.มานพ พงศทัต” เป็นที่ปรึกษา
รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เชิญ รศ.มานพ พงศทัต อดีตรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิประจำภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อสร้าง Master Plan ในการพัฒนาพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ในทุกศูนย์การศึกษา สำหรับมาตรการสำคัญคือ การระดมสมองและความร่วมมือจากบุคลากรทั้งภายนอกและภายในมหาวิทยาลัย โดยเป้าหมายแรกซึ่งเป็นแผนระยะสั้น คือ การสร้างจิตสำนึกตามปณิธาน “ขวัญเป็นกำลังใจ วินัยเป็นศักดิ์ศรี สามัคคีเป็นพลัง” โดยเตรียมการรณรงค์ในการปลูกต้นอินทนิลและดอกบัวฉลองขวัญ ซึ่งเป็นต้นไม้และดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจร่วมกันของบุคลากร สำหรับแผนระยะกลางและยาวคือ การปรับเปลี่ยนชื่อศูนย์พื้นที่เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าและเป็นประโยชน์ต่อการจดจำพร้อมทำประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยให้เป็นที่รู้จักของสาธารณชน ได้แก่
- ศูนย์การศึกษาวังกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (เทเวศร์ และโชติเวช)
- ศูนย์การศึกษาวังกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (พณิชยการ พระนคร)
- ศูนย์การศึกษาพระนครเหนือ
นอกจากนั้น แผนระยะยาวที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างและหาพื้นที่ใหม่ เพื่อใช้ในการจัดการศึกษาวิชาพื้นฐาน (General Education) โดยมุ่งหวังให้นักศึกษาในชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 ศึกษาวิชาพื้นฐานและทำกิจกรรมสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์สามัคคีในพื้นที่ศูนย์การศึกษาแห่งใหม่ จากนั้นจึงย้ายกลับมาศึกษาปี 3-4 ในรายวิชาเอกของแต่ละสาขา ในศูนย์การศึกษาดั้งเดิม ตาม พื้นที่ตั้งของแต่ละคณะต่อไป
รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าประทับใจว่า “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ของผมคนเดียว แต่เป็นของพวกเราทุกคน เราต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำช่วยกันสร้าง เพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในอนาคตของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ สิ่งสำคัญที่บุคลากรทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยควรตระหนักไว้เสมอก็คือ นักศึกษาคือหัวใจของ มทร.พระนคร และบัณฑิตนักปฏิบัติของ มทร.พระนคร คือหัวใจของประเทศ ดังนั้น หากทุกความคิด ทุกการสร้างสรรค์พัฒนา พวกเรามีเป้าหมายเดียวกันและชัดเจนคือทำเพื่อนักศึกษาเพื่ออนาคตของมหาวิทยาลัย ก็เสมือนเราได้ดูแล “หัวใจ” ของมหาวิทยาลัยและ “หัวใจ” ของประเทศได้อย่างน่าภาคภูมิ