วังรพีพัฒน์

Capture

 

โดย…สุธาทิพย์  เกียรติวานิช

             มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  วิทยาเขตเทเวศร์ (เดิม) ในอดีตเมื่อ ๑๑๑ ปีผ่านมาแล้วเคยเป็นสถานที่ตั้งของ “วังรพีพัฒน์” ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเงินพระคลังข้างที่ซื้อที่ต่อจากราษฎรจำนวน ๑๐ ราย เป็นเงิน ๒๙๖ ชั่ง ๓๖ บาท และพระยานรฤทธิราชหัถถวายโดยไม่คิดราคาอีกรายหนึ่ง รวมเป็นที่ ๑๑ ราย เนื้อที่ด้านเหนือยาว ๔ เส้น ๑๒ วา ๑ ศอก ด้านใต้ยาว ๔ เส้น ๑๓ วา ๒ ศอก ด้านตะวันออกยาว ๕ เส้น ๑๒ วา  ด้านตะวันออกยาว ๔ เส้น ๕ วา[1]

หลังจากที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์สิ้นพระชนม์ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่  ๗  สิงหาคม  พุทธศักราช  ๒๔๖๓ ประเทศไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่ดินพร้อมวังรพีพัฒน์แห่งนี้จึงตกเป็นสมบัติของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

จากนั้น เอกชนได้ขอเช่าที่ดินเพื่อจัดตั้งเป็นสถานศึกษาชื่อ “โรงเรียนรพีพัฒน์” กิจการของโรงเรียนดำเนินการอยู่ได้ไม่นานก็เลิกไป

ปีพ.ศ. ๒๔๙๔ กระทรวงอุตสาหกรรมขอซื้อจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อทำเป็นโรงงานทำร่ม

ปีพ.ศ. ๒๔๙๕ กรมอาชีวศึกษา ได้ขอซื้อต่อจากกระทรวงอุตสาหกรรม ในวงเงิน ๓,๙๐๕,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นที่ตั้งของ ”โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษา”มีสิ่งก่อสร้างประกอบด้วย ตึกหลังใหญ่อันเป็นที่ตั้ง “วังรพีพัฒน์” ๑ หลัง (ปัจจุบันเป็นอาคาร D-Hall) อาคารหลังเล็ก ๑ หลัง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอาคารสาขาวิชาโยธา) ห้องแถวไม้ริมถนนสามเสนจำนวน ๑๘ ห้อง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอาคารสาขาวิชาไฟฟ้า สาขาวิชา

_____________________________________________________________

[1] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.  พระราชหัตถเลขา พระราชทานที่เป็นสิทธิ์แก่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์ ตำบลบางขุนพรม ริมคลองผดุงกรุงเกษม.  สำเนาที่ ๔/๑๑๖๔. (ไมโครฟิล์ม)
_____________________________________________________________

อิเล็กทรอนิกส์ และสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล) โรงงานขนาดยาว ๑ หลัง (ที่ตั้งสาขาวิชาอุตสาหการในปัจจุบัน) และโรงงานขนาดเล็ก ๑ หลัง (ที่ตั้งบ้านพักครูปัจจุบัน)

ปีพ.ศ. ๒๔๙๖ มีการจัดสร้างอาคารเรียนเป็นตึก ๒ ชั้น ๑ หลัง ความยาว ๖๔ เมตร ทางด้านขวามือตรงทางเข้าโรงเรียน สิ้นค่าก่อสร้าง ๑,๒๐๐๐,๐๐๐ บาท

Capture2

อาคารเรียนตึก ๒ ชั้น หลังแรก

ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๙๗ โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษาได้รับงบประมาณเพื่อต่อเติมอาคารเรียนตึก ๒ ชั้น ที่สร้างเอาไว้แล้วเพิ่มความยาวออกไปอีก ๔๔ เมตร, ซ่อมแซมตึกวังรพีพัฒน์เดิมที่ชำรุด, ทำรั้วและถนนภายใน, ย้ายห้องแถวที่ด้านหน้าออกไป, และปลูกสร้างบ้านพักภารโรง

Capture3

ประตูทางเข้าวิทยาลัยครูอาชีวศึกษา

วันที่  ๑  มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ โรงเรียนฝึกหัดครูอาชีวศึกษาได้รับยกฐานะเป็น “วิทยาลัยครูอาชีวศึกษา”

วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๐๙ ได้มีการลงนามกู้เงินระหว่างรัฐบาลไทยกับธนาคารโลก ณ สำนักงานธนาคารโลก กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียกว่า “โครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาอาชีวศึกษา”  ระยะแรกมีกำหนด ๕ ปี เริ่มตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๑๔

            พ.ศ. ๒๕๑๑ วังกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรือ วังรพีพัฒน์อันสวยงาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็ถูกรื้อถอนลงจนหมดสิ้น พื้นที่นี้ได้กลายเป็นอาคารสำนักงานผู้อำนวยการ(ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน และสำนักงานคณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม), ลานอเนกประสงค์ (ลานอิฐแดง) และหอประชุม D – Hall ในปัจจุบัน

Capture4

ศิลาฤกษ์หินอ่อนที่ยังหลงเหลืออยู่เพียงชิ้นเดียว

ปัจจุบันวิทยาลัยครูอาชีวศึกษาเดิมได้กลายมาเป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทเวศร์ และคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ตามลำดับ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของหลายหน่วยงานในปัจจุบันอาทิเช่น สำนักงานอธิการบดี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน และสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นต้น

Capture5

อาคารใหม่ล่าสุด เป็นที่ตั้งของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ และคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน

บรรณานุกรม

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.  พระราชหัตถเลขา พระราชทานที่เป็นสิทธิ์แก่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์ ตำบลบางขุนพรม ริมคลองผดุงกรุงเกษม.  (ไมโครฟิล์ม) สำเนาที่ ๔/๑๑๖๔.
ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ร.ศ.๑๑๖.

_____________________________________________________________

พระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
พระบิดาแห่งกฎหมายไทย

คลิกเพื่ออ่าน